สาวนิสิตสาวไอดี ออกแบบบัตรประจำตัวนิสิตจุฬาฯ
สามนิสิตภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำความรู้และความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบที่ร่ำเรียนมาออกแบบบัตรประจำ ตัวนิสิตใหม่จุฬาฯ ที่มีความโดดเด่น สวยงามและคงรูปลักษณ์ความเป็นจุฬาฯ เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2551เป็นต้นไป
ทั้งนี้ 3 นิสิตผู้ออกแบบบัตรประจำตัวนิสิตใหม่ในครั้งนี้คือ “มณฑกานต์ ใบโพธิ์วงศ์, ณัฐณิชา พานิชภักดิ์ และกุลดา ศศะสมิต” นิสิตชั้นปีที่ 4 ทั้งสามคนเล่าว่าสำนักทะเบียนและประมวลผล จุฬาฯ ได้ขอความร่วมมือในการออกแบบบัตรประจำตัวนิสิตใหม่ไปยังภาควิชาการออกแบบ อุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งสามคนจึงรวมทีมกันอาสาออกแบบบัตรดังกล่าว เริ่มจากการช่วยกันคิดแบบบัตรประจำตัวนิสิตออกมาหลากหลายแบบ และส่งผลงานที่ออกแบบให้ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล จุฬาฯ พิจารณา
สุดท้ายมาลงตัวที่รูปแบบตัวบัตรเป็นสีชมพู เพื่อสื่อถึงความเป็นจุฬาฯ ภาพพื้นหลังเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหา ธีรราชเจ้า และหอประชุมจุฬาฯ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของจุฬาฯ จากนั้นจึงนำมาจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ให้ได้สัดส่วนเหมาะสมกับขนาดบัตร
“การเลือกภาพพื้นหลังเป็นภาพมุมไกลเพื่อให้ข้อมูลในบัตรมีความโดด เด่นเพียงพอ และเลือกใช้สีที่ทำให้เห็นตัวอักษรชัดเจน หลังจากนั้นจึงมาแก้ไขรายละเอียดหลายครั้ง ในการออกแบบครั้งนี้ได้นำความรู้จากการเรียนที่คณะมาใช้ เช่น การเลือกขนาดตัวอักษร การจัดลำดับในการมองเห็น ความห่างของระยะบรรทัดและความหนาเข้มของตัวอักษร เป็นต้น เราใช้เวลาออกแบบ 2 เดือน”
นอกจากนี้ทั้งสามคนยังกล่าวอีกด้วยว่า รู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่ได้เห็นบัตรประจำตัวนิสิตแบบใหม่ที่พวกเธอออกแบบ ถูกนำมาใช้จริง และสิ่งที่มีค่ายิ่งที่ได้รับจากการออกแบบครั้งนี้คือ ความภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์แก่มหาวิทยาลัย แม้จะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว แต่ผลงานการออกแบบบัตรประจำตัวนิสิตนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไป
ทั้งนี้บัตรประจำตัวนิสิตแบบใหม่นี้มีคุณสมบัติเป็นบัตรสมาร์ทคอนแทค เลสการ์ด ซึ่งนิสิตสามารถนำไปใช้ได้ในกรณีดังต่อไปนี้ ใช้เป็นบัตรประจำตัวนิสิต บัตรเอทีเอ็มของธนาคาร บัตรสมาชิกห้องสมุด และบัตรเงินสดเพื่อชำระค่าบริการต่างๆ แทนการชำระเงินสดที่สำนักทะเบียนและประมวลผล
เช่น ค่าเอกสารสำคัญทางการศึกษา ค่ารักษาสถานภาพการเป็นนิสิต และใช้กับหน่วยงานอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ และบัตรนิสิตใหม่นี้เป็นบัตรที่มี Chip ที่เป็น Mifare ซึ่งหากมีการประกาศใช้โครงสร้างที่เป็น Common Card ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก็จะสามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดินได้ด้วย
จาก http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9510000084163